โรคในเด็กทารกแรกเกิด มีอะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

เด็กแรกเกิด หมายถึงทารกที่มีอายุ 30 วันแรกหลังคลอด เป็นระยะที่ทารกมีการปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่ในสภาพนอกครรภ์มารดาได้ภายหลังคลอด โดยจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ รวมถึงยังมีการปรับตัวของระบบอวัยวะอื่นๆด้วย แม้ว่า เด็กทารกจะทานนมแม่แต่ภูมิคุ้มกันของเด็กยังมีน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคในเด็กทารกแรกเกิดได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะมาพูดถึงโรคที่ทารกแรกเกิดมักเป็นกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการและหากเกิดความผิดปกติจะได้นำส่งแพทย์ได้ทันเวลา
โรคในเด็กแรกเกิดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
โรคในเด็กทารกแรกเกิด โรคแรก คือ การติดเชื้อในทารกแรกเกิด เพราะว่ายังมีภูมิคุ้มกันไม่พอ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และมักได้รับมาจากคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ประสบกับภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนคลอดนานๆ เพราะเชื้อจากช่องคลอดจะเข้าไปหาทารกได้ หากทารกเกิดภาวะติดเชื้อจะแสดงอาการกินนมน้อยลง ซึม มีการหายใจผิดปกติ มีอาการชักเกร็ง หากลูกน้อยมีอาการดังกล่าวให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
โรคทางเดินหายใจ เมื่อเด็กออกมาจากครรภ์ของมารดา พวกเขาต้องปรับตัวเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพภายนอกให้ได้ และระบบการหายใจของพวกเขายังไม่พัฒนา ยิ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดแล้ว เรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
ภาวะตัวเหลือง เกิดจากสารเคมีบิลิรูบิน สารสีเหลืองที่เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดง และเพราะว่าตับของทารกยังทำงานไม่สมบูรณ์ให้กำจัดออกไปไม่หมด แต่ว่าอาการตัวเหลืองนี้จะเกิดไม่เกิน 10 วันก็จะหายไป แต่ถ้าตัวเหลืองมาก หมอก็จะนำตัวไปเจาะเลือดแล้วดูผลอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีการส่งไฟเพื่อรักษาอาการตัวเหลืองนั่นเอง
ภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ อาจเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ คุณแม่กำลังเป็นเบาหวานเมื่อตอนที่กำลังตั้งครรภ์และมาจากตัวลูกเองที่น้ำหนักน้อยหรือมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อคุณหมอตรวจแล้ว และเห็นว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ คุณหมอก็จะให้น้ำเกลือควบคู่กับการทานนมแม่เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดนั่นเอง
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคนี้มีอยู่ 2 ประเภท นั่นคือ โรคหัวใจพิการที่มีภาวะตัวเขียวและไม่มีภาวะตัวเขียว โดยอาการที่สังเกตได้ คือ ทารกจะมีริมฝีปากคล้ำ จมูกจะบาน หายใจแรงและดูเหนื่อย มือเท้าเย็น หยุดดูดนมเป็นพักๆ ในบางครั้งก็มีการแสดงอาการ บางทีก็ไม่มี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องสังเกตถึงอาการผิดปกติของลูกน้อยด้วย
ทารกมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดแคลนไอโอดีน และยากที่จะสังเกตได้เพราะว่ามันซ่อนเร้นด้วย โดยต้องใช้วิธีทางการแพทย์ในการตรวจ ซึ่งก่อนออกจากโรงพยาบาล คุณแม่อาจจะให้คุณหมอตรวจก่อน เพื่อตรวจสอบเรื่องซ่อนเร้นนี้ โดยถ้าไม่ได้รับการรักษาภายใน 2 เดือนหลังคลอด จะทำให้มีพัฒนาการช้าลง
ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว เกิดจากการเรียงตัวของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ผิดปกติ เส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงผนังลำไส้บิดขั้ว ทำให้ลำไส้ขาดเลือด โดยอาการที่สังเกตได้คือ ท้องอืด อาเจียน เริ่มถ่ายเป็นเลือด และเด็กจะมีอาการซึม ตัวซีดและเกิดภาวะช็อกในที่สุด
โรคทางพันธุกรรม พบได้ตั้งแต่แรกเกิด เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคหัดเยอรมัน เบาหวานในเด็ก ตามัว หรือพวกอาการดาวน์ซินโดรม รวมทั้งเรื่องของพัฒนาการบกพร่อง เช่น อาการเด็กสมาธิสั้น เด็กไฮเปอร์ รวมถึงโรคออทิสติก
โรคเกี่ยวกับระบบต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน รวมถึงโรคมะเร็งด้วยซึ่งโรคแต่ละอย่างก็มีทั้งโรคร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องสังเกตลูกน้อยและต้องดูแลลูกน้อยของตัวเองด้วย
การดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลโรค
การดูแลเด็กทารกก็จะยากกว่าเด็กโต เพราะว่าเด็กทารกพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี หากพบความผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
ก่อนอื่นให้คุณปรึกษาคุณหมอก่อนการตั้งครรภ์ ช่วยลดโอกาสจากการเกิดโรคทางพันธุกรรมด้วย เพราะว่าพ่อและแม่เองต้องมีความพร้อมที่จะมีลูกน้อยด้วย เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดจากพันธุกรรมได้ดียิ่งขึ้น และอย่าลืมเรื่องของการฝากครรภ์ เพราะว่าคุณหมอจะช่วยเราดูแลตั้งแต่เริ่มต้นการตั้งครรภ์ไปจนคลอด ขณะตั้งครรภ์ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และไม่ควรทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปมากเกินไป และคุณแม่เองก็ต้องงดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์และต้อง.คอยสังเกตอาการของลูกน้อยเสมอ เพื่อรีบพาไปพบคุณหมอทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว หายใจลำบาก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ ไม่กิน ไม่ดื่ม กระสับกระส่าย สับสน ซึม ชัก เป็นต้น เพราะอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงชนิดต่างๆได้
ทั้งหมดนี้คือ โรคในเด็กทารกแรกเกิดที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้เอาไว้เพื่อสังเกตอาการและช่วยปกป้องลูกน้อยด้วยมือของคุณเอง แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทารกจะได้แข็งแรงและมีความต้านทานตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลย พอคลอดออกมาก็จะไม่ค่อยมีปัญหาด้านสุขภาพมากนัก